ประวัติโรงเรียน


         มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีรากฐานมาจากการเป็นโรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศไทย เปิดการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา ซึ่งโรงเรียนการเรือน (ยุค 1.0) มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมการบ้านการเรือนสำหรับสตรีและเปิดสอนหลักสูตรอบรมครู จากโรงเรียนวิสามัญการเรือน ในปีพ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยครูสวนดุสิต (ยุค 2.0) โดยมุ่งเน้นการผลิตครูปฐมวัย  ครูการศึกษาพิเศษ  ครูคหกรรม และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคหกรรมศาสตร์รวมถึงหลักสูตรด้านการบริการ ต่อมาในปี 2535 เปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ยุค 3.0) เน้นด้านคหกรรม  อาหาร ปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ  และเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ และต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้ปรับเปลี่ยนจากสถาบัน เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (ยุค 4.0) มีการกำหนดอัตลักษณ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร ปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ และพยาบาลศาสตร์โดยเน้นเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก และในปี พ.ศ. 2558 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (ยุค 5.0) ซึ่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในยุค 5.0 ได้มีการปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ที่มุ่งเน้นในด้าน

            1) มุ่งการขับเคลื่อนการเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางในสาขาอัตลักษณ์ 4 ด้าน ได้แก่ อาหาร การศึกษาปฐมวัย  อุตสาหกรรมบริการ  และการพยาบาลและสุขภาวะ

            2) มุ่งการควบรวมและ การสร้างความโดดเด่นของหลักสูตร

            3) เน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงาน  การพัฒนาหลักสูตรอันจะนำไปสู่การวางรากฐานที่ดีเพื่ออนาคตที่ดี และ

            4) เพิ่มมูลค่าทางวิชาการ

          มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมาจากโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน จนกระทั่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต หรือเรียกที่ว่า สวนดุสิต 5.0 นั้น เป็นห้วงเวลาที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสามารถเชิงวิชาการ ในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทบทวนและปรับยุทธศาสตร์ (Reprofiling) โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตต้องตระหนักและพัฒนารูปแบบการจัดการคุณภาพด้านหลักสูตร การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาที่กำหนดเป็นอัตลักษณ์ให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งจากการวิเคราะห์หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีในปัจจุบันพบว่ามหาวิทยาลัยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามความต้องการของตลาดแรงงานความชำนาญการ และความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยได้ 2 กลุ่มหลักสูตร คือ

            1) กลุ่มหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นหลักสูตรที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับ ได้แก่ หลักสูตรด้านอาหาร ด้านการศึกษาปฐมวัย ด้านอุตสาหกรรมการบริการ และด้านการพยาบาลและสุขภาวะ

            2) กลุ่มหลักสูตรที่กำลังสร้างความโดดเด่นและควบรวม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหลักสูตรที่มีความเสี่ยงสูง  กลุ่มหลักสูตรที่มีการแข่งขันสูง กลุ่มหลักสูตรที่ต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัย  และ กลุ่มหลักสูตรที่มีการพัฒนาเฉพาะทาง จากการวิเคราะห์และหลักสูตรดังกล่าวจึงมีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งของหลักสูตร ด้วยการรวมหลักสูตรที่มีพื้นฐานทางวิชาการใกล้เคียงกันหรือสัมพันธ์กัน ได้แก่ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานส่วนท้องถิ่น และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม เข้าเป็นศักยภาพเดียวกัน เพื่อจัดตั้งเป็น “โรงเรียนกฎหมายและการเมือง” (School of Laws and Politics) โดยเน้นการสร้างความแตกต่างของหลักสูตร  ให้มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เปิดสอน และผลักดันให้เป็นอัตลักษณ์ที่ ๕ ของมหาวิทยาลัยในอนาคต  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัฒน์  ตลอดจนความท้าทายของการผลิตบัณฑิตให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ สังคม ชุมชน และท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการองค์ความรู้ (Knowledge Management) และสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ