มุมมองรร.กฎหมายและการเมืองมสด. สุขภาพประชาธิปไตยที่เจ็บป่วย: อะไรคือยารักษา?
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีความเชื่อว่าจะนำพาประชาชนให้อยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตดี มีความสุข ที่สำคัญได้ให้อำนาจและสิทธิประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการปกครอง อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนาประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์นั้นไม่ง่ายอย่างทึ่คิด เมื่อเทียบกับผลการประเมินความเป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามตัวชี้วัดของสถาบันต่างๆ เช่น ตัวชี้วัดของ Freedom House ที่เน้นประเมินสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ตัวชี้วัดของ UNDP (United Nations Development Programme) ให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐสภา ระบบและกระบวนการเลือกตั้ง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การกระจายอำนาจทางการเมือง การต่อต้านการทุจริต และการปฎิรูปการบริหารภาครัฐ ตัวชี้วัดของ International IDEA (Institute for Democracy and Electoral Assistance) ได้แก่ หลักสิทธิพลเมือง กฎหมาย การเป็นตัวแทนประชาชนและความรับผิดชอบของรัฐบาล ประชาคมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเป็นประชาธิปไตยในระดับนานาชาติของประเทศนั้น และตัวชี้วัดของ EIU (Economist Intelligence Unit) ใช้ประเมินการเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ โดยวัดจาก 5 ด้าน คือ กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม การทำงานของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง และเสรีภาพของประชาชน
โดยรวมแล้วตัวชี้วัดเหล่านี้คือหลักการที่ใช้ประเมินความเป็นประชาธิปไตย และเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 การประเมินความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ จึงนำมาเปรียบเปรยกับการวัดสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ของประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ หรือเรียกว่า “สุขภาพประชาธิปไตย” ทั้งนี้ Center for the Future of Democracy แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ศึกษาภาวะสุขภาพประชาธิปไตยประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1975-2020 ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ลาตินอเมริกา แอฟริกา เอเชีย (รวมประเทศไทย) ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีตัวชี้วัดด้านความพึงพอใจ/ความสุขของประชาชนต่อรัฐ กลไกประชาธิปไตยเชิงสถาบัน และกลไกประชาธิปไตยภาคประชาชน/ประชาสังคม
ผลการศึกษาพบว่า ประเทศส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาภาวะการเจ็บป่วยของประชาธิปไตย มีลักษณะอาการความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ประชาชนไม่มีความสุขหรือพึงพอใจต่อรัฐ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตแย่ลงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน บางประเทศขาดโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการที่เพียงพอ โดยเฉพาะสถานการณ์ Covid-19 เป็นตัวเร่งปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้น เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ไนจีเรีย และเม็กซิโก ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมืองระหว่างประเทศตามมา
สถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit ใช้ตัวชี้วัดประเมินความเป็นประชาธิปไตย 167 ทั่วโลก ในปี ค.ศ.2020 พบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ (full democracies) มีเพียง 23 ประเทศ หรือ 14% ของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก) ประเทศที่มีประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์ (flawed democracies) มี 52 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ประเทศที่ใช้ประชาธิปไตยรูปแบบผสม 35 ประเทศ และประเทศมีการปกครองแบบอำนาจเผด็จการ 57 ประเทศ เมื่อรวมประเทศสามกลุ่มหลังแล้วจะเห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นั้นยังห่างไกลอยู่มาก โดยเฉพาะตัวชี้วัดสุขภาพประชาธิปไตยด้านการทำงานของรัฐบาลและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
สถาบัน International IDEA สำรวจประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ.1975-2021 จำนวน 158 ประเทศโดยมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งเชิงเชิงปริมาณการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยเชิงคุณภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมตัดสินใจในนโยบายและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ผลสำรวจพบว่า ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะเจ็บป่วย อาการแสดงก็คือ สิทธิ เสรีภาพ และความมั่นคงของประชาชนลดลง รัฐบาลจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และระบบตรวจสอบรัฐบาลมีความอ่อนแอ ในท่ามกลางการเรียกร้องจากภาคประชาชนให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย ผลการสำรวจปี ค.ศ.2021 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ประชาธิปไตยเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนถูกละเมิด บางประเทศมีแนวโน้มใช้อำนาจเผด็จการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ เช่น เมียนมาร์ เอธิโอเปีย และซูดาน บางประเทศอยู่ในภาวะประชาธิปไตยถดถอย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
ภาวะสุขภาพที่เจ็บป่วยของประชาธิปไตยดังกล่าว เมื่อวินิจฉัยแล้วก็พบว่าสาเหตุหลักเกิดจาก 1) ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การทุจริตภาครัฐ การไร้ความสามารถต่อการจัดการวิกฤติเศรษฐกิจ 2) สถาบันการเมืองหรือประชาธิปไตยเชิงสถาบัน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและพรคคฝ่ายค้านขาดประสิทธิภาพตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ภาคประชาชนขาดพลังตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3) รัฐบาลบางประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง ขาดความมั่นคง การเมืองขาดเสถียรภาพ ขาดความต่อเนื่องของการพัฒนา 4) สิทธิเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนลดลง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง และ 5) ประชาชนบางส่วนมีความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต คำนึงถึงสิทธิประโยชน์เชิงปัจเจกบุคคลมากกว่าประโยชน์สาธารณะ และมีความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชน
เมื่อเจ็บป่วยแล้วก็ต้องทำการรักษา ซึ่งยารักษาความเจ็บป่วยของประชาธิปไตยโดยทั่วไป คือ การพัฒนาประชาธิปไตยที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาสังคม และผู้นำทางการเมือง การพัฒนานวัตกรรมเชิงสถาบันในการเสริมพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มชายขอบหรือรับผลกระทบจากรัฐ การพัฒนาขีดความสามารถของรัฐตามหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล และการให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่ประชาชน ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และเรียนรู้การมีส่วนร่วมในแบบพลเมืองบนฐานสิทธิมนุษยชน
การจะทราบว่าประชาธิปไตยหายป่วย สุขภาพแข็งแรง และมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือไม่นั้น สถาบัน International IDEA เสนอให้ใช้ตัวชี้วัดภาวะสุขภาพของประชาธิปไตย 5 ด้าน คือ
อย่างไรก็ดี ประเทศที่มักได้รับการประเมินว่ามีสุขภาพประชาธิปไตยสมบูรณ์ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์วัดจากสถาบันใดก็ตาม ก็คือ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศไทยนั้นไม่ว่าจะถูกประเมินจากสถาบันใด สุขภาพประชาธิปไตยไทยก็ยังไม่สมบูรณ์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง และหากต้องการพัฒนาสู่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ การปรับใช้กรอบประเมินภาวะสุขภาพประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของ International IDEA ให้เหมาะสมกับบริบท ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยไทย ก็น่าสนใจสำหรับการสร้างความแข็งแรงให้กับสุขภาพประชาธิปไตยไทย
ผศ.ดร.บูชิตา สังข์แก้ว หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต